วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กฎหมายอินเทอร์เน็ต : ความจำเป็นสำหรับประเทศไทย

กฎหมายอินเทอร์เน็ต : ความจำเป็นสำหรับประเทศไทย
อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางของการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งโลกเราต่างก้าวผ่านยุคแห่งสังคมข่าวสารแล้วซึ่งทำให้ประจักษ์ได้ว่าข่าวสารต่าง ๆ นั้นจะเป็นประโยชน์ การพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ได้นั้นต้องอาศัยความรู้ในการจัดการอย่างยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีความหมายครอบคลุมกิจกรรมด้านการศึกษาที่ถูกวางรูปแบบโดยครูผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเนื่องจากรูปแบบการสื่อสารและการควบคุมนักเรียนทางไกลแบบ Online มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนซึ่งทำกันเป็นปกติ ดั้งนั้นเป้าหมายของการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ตจึงประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ (ไพโรจน์ เบาใจ, ๒๕๔๔: ๑)
๑. การสร้างกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมกับระดับผู้เรียน
๒. การเสริมทักษะและความรู้เพื่อให้ครูสามารถดำเนินการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. การกำหนดเป้าหมายการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นในปัจจุบันจึงได้มีการนำระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงและมีเครือข่ายสาธารณูปโภคที่ทันสมัย ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ภายใต้การกำหนดกรอบนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ความสำคัญของปัญหา
ในรอบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาได้มีวิวัฒนาการของกิจกรรมทางด้านเทคโนโลยี สารสนเทศเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากกระแสโลกอันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเปิดเสรีในภาคธุรกิจ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันภายในประเทศเอง ทั้งนี้ครอบคลุมกิจกรรมในระดับและขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงโครงการของภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับชาติและระดับองค์กร (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, ๒๕๔๖:๒๘)
ในปี ๒๕๓๕ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติขึ้นด้วยเล็งเห็นว่า สังคมจะต้องมีการเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคข่าวสารข้อมูล ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประกาศใช้ “นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ” ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอโดยมีสาระสำคัญที่เป็นเสาหลักในการพัฒนา ๓ ประการคือ
๑. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศแห่งชาติ (National Information Infrastructure: NII)
๒. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) โดยการเร่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาความ ขาดแคลน และเพื่อเตรียมรับความต้องการของตลาด และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อการศึกษา และการฝึกอบรม ทุกระดับทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสาขามนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์
๓. พัฒนาระบบสารสนเทศและปรับปรุงบทบาทภาครัฐเพื่อบริการที่ดีขึ้นรวมทั้ง สร้างรากฐาน อุตสาหกรรมสารสนเทศที่แข็งแกร่ง (IT for Good Governance)
จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิรูประบบการศึกษาโดยส่วนรวม แต่อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงในปรากฏว่าขณะนี้เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญมากและมีอิทธิพลทั้งทางบวกและลบต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งจากข้อมูลรายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ พบว่า สถานศึกษาที่มีอินเตอร์เน็ต ระดับประถมศึกษาร้อยละ ๖๗.๓๑ ประถมศึกษาขยายโอกาสร้อยละ ๘๐.๕๙ มัธยมศึกษาร้อยละ ๙๔.๔๘ เวลาเฉลี่ยที่เด็กประถมศึกษาเล่นอินเตอร์เน็ต ๗๕.๖๖ นาทีต่อวัน มัธยมศึกษา-อุดมศึกษาใช้ ๙๔.๐๑ นาทีต่อวัน โดยเฉลี่ยในจังหวัดต่างๆ จะมีจำนวนร้านอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย ๔๑.๐๙ แห่งต่อจังหวัด ที่สำคัญก็คือเด็กและเยาวชนใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงมากกว่าการศึกษา ข้อมูลจาก NECTEC สำรวจข้อมูลผู้ใช้อินเตอร์เน็ตออนไลน์เมื่อปี ๒๕๕๐ พบว่า ประชากรอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๒ ในปี ๒๕๔๙ เป็นร้อยละ ๒๑.๒ ในปี ๒๕๔๘ โดยใช้เวลาเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๙.๒ ช.ม. และพบว่าเว็บไซต์ที่เด็กและเยาวชนเข้าไปดูมากที่สุดกว่าร้อยละ ๓๐ เป็นเว็บไซต์บันเทิง ในขณะที่เด็กและเยาวชนเข้าไปดูหรือสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านการศึกษาต่างๆ เป็นจำนวนเพียงร้อยละ ๒ (www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03p0101211249&day=2006/12/21)

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจเรื่อง การใช้เวลาว่างช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนของนักเรียน นักศึกษา อายุ ๑๕-๒๔ ปี ในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา พบว่า กิจกรรมไม่สร้างสรรค์ที่ทำในช่วงปิดเทอม ๓ อันดับแรก ได้แก่ ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือยร้อยละ ๕๓.๘ ดูวิดีโอ/วีซีดี/ซีดีเอ็กซ์ ร้อยละ ๔๑.๕ และมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหรือคู่รัก ร้อยละ ๒๙.๑ ส่วนสำนักงานกองทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจเรื่อง การใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กไทย อายุ ๑๕-๒๔ ปี ในเขต กทม. จำนวน ๑,๔๖๔ คน พบว่าเด็กอายุไม่ถึง ๑๒ ปี เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตถึงร้อยละ ๒๐.๘ เด็กอายุ ๑๓-๑๕ ปี เริ่มใช้มากที่สุดร้อยละ ๔๕.๓ โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่เริ่มใช้คือ ๕ ขวบ เวลาที่เด็กนิยมใช้อินเตอร์เน็ตคือ ๒๐.๐๑-๒๔.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่ควรพักผ่อนของเด็กในวัยเรียน เมื่อถามผู้ปกครองว่าทราบหรือไม่ ว่าดูอะไรในอินเตอร์เน็ตบ้างร้อยละ ๔๔.๘ ระบุว่าไม่ทราบ และมีเพียงร้อยละ ๑๒.๖ เท่านั้นที่ดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็ก/เยาวชนในปกครอง ในส่วนของครู อาจารย์นั้นกว่าร้อยละ ๓๓.๑ ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าลูกศิษย์ใช้อินเตอร์ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเปิดเว็บไซต์รับแจ้งเบาะแสเว็บไม่เหมาะสม มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จะพบว่าปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาได้รับแจ้งว่ามาการกระทำผิดถึง ๑๐,๖๔๖ เว็บไซต์ ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ ๘๐ เป็นเว็บไซต์ลามก ขายบริการทางเพศ หรือวัตถุทางเพศ (http://cyber.police.go.th/webreport) เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อใหม่ที่เข้ามามีความสำคัญในสังคมไทยในเวลาไม่นานมานี้ และที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ โดยมีลักษณะของสื่อผสม (Multimedia) ซึ่งรวมเอาหลากหลายรูปแบบของการสื่อสารไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ การไปรษณีย์ การแพร่ภาพและการกระจายเสียง รวมถึงการปฎิสัมพันธ์ในเวลาจริง การออกกฎหมายเพื่อควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องอาศัยกรอบและกระบวนการทางกฎหมายที่ครอบคลุมกว้างขวาง (http://media.loeione.net/modules.php?name=News&file=print&sid=19) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งนำมาบังคับใช้ และปัจจุบันหน่วยงานหลักในการควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีหน่วยงานย่อยในศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่สอดส่องดูแลเนื้อหาและพฤติกรรมบนอินเทอร์เน็ต และหากเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าเป็นเว็บไซต์นั้นมีลักษณะผิดกฎหมายจริง ก็จะจัดการดำเนินคดี หรือหากว่าเป็นอันตรายแต่ไม่ผิดกฎหมาย ก็จะแจ้งให้ทางผู้ควบคุมเครือข่าย (ISP) ทำการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เพิ่งมีระยะเวลาบังคับใช้ได้ไม่นาน ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินและปรับปรุงกฎหมายอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถป้องกันการกระทำผิดและคุ้มครองสังคมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น