วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตยุค 3G เตือนภัยจากไซเบอร์

ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย นำเสนอผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดเรื่อง “ภัยไซเบอร์ : การรับรู้และความเข้าใจของประชาชน เกี่ยวกับกฎหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบ” โดยมี ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำเสนอผลงานดังนี้
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ส่งผลต่อปัญหาด้านอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลคดีอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงเดือน กรกฎาคม 2553 พบว่าการดำเนินคดีตามกฎหมายมีเพียง 185 คดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งอาจเกิดจากการยอมความกันในขั้นสอบสวนหรือผู้ตกเป็นเหยื่อที่อาจไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต รวมถึงไม่ทราบขั้นตอนในการดำเนินการเมื่อตกเป็นเหยื่อ
ปัญญาสมาพันธ์ฯ ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เชิงวิชาการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม จึงเล็งเห็นความจำเป็นของการศึกษาถึงการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องภัยไซเบอร์
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน วันละประมาณ 1-2 ชั่วโมง สถานที่ใช้มากที่สุดคือที่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยถูกกระทำจากภัยทางไซเบอร์นัก แต่สำหรับผู้ที่ถูกกระทำแล้ว พฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุดคือได้รับอีเมล โฆษณาขายสินค้าหรือชักชวนทำงานจากบุคคลที่ไม่รู้จัก รองลงมาคือ ได้รับไวรัสทางอีเมลหรือจากการเปิดเว็บไซต์ และถูกใช้คำพูดไม่สุภาพ หมิ่นประมาททาง อีเมล เว็บบอร์ดหรือสังคมออนไลน์ ส่วนการดำเนินการเพื่อเอาผิด กลับพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำความผิดเลย รองลงมาคือเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านสังคมออนไลน์และผู้ดูแล ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรู้สึกเข้าถึงได้มากกว่า
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า บทลงโทษของผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นสมควรทั้งถูกจำคุกและปรับเงินมากที่สุดถึงร้อยละ 62 โดยร้อยละ 42.6 ตอบว่ารู้สึกกลัวที่จะกระทำผิด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มที่รู้สึกว่ากลัวจะตกเป็นเหยื่อที่มีมากถึงร้อยละ 58.3 และส่วนใหญ่ตอบต้องการให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลและป้องกันภัยทางไซเบอร์
ขณะที่คำถาม หากโดนกระทำผิดทางอินเตอร์เน็ตสามารถเรียกร้องได้ที่ไหนกับใคร พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.1 ทราบว่าร้องเรียนได้แต่ไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนที่ไหนกับใคร รองลงมาร้อยละ 34.0 ตอบว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่าร้องเรียนได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 ไม่ทราบมาก่อนว่ามีกฎหมายนี้ ราวร้อยละ 35.9 ตอบว่าทราบว่ามีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แต่ไม่เคยอ่าน มีร้อยละ 22 ที่เคยอ่านแต่ไม่เข้าใจในบางประเด็น
ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปีเหล่านี้ยังมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับน้อย ในขณะที่ทุกกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 68.4 ตอบสอดคล้องว่าพระราชบัญญัติสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับน้อยที่สุดถึงปานกลาง และอีกร้อยละ 12.4 เห็นว่าพระราชบัญญัติไม่สามารถป้องกันปัญหาได้
แนวทางในการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและสร้างการเข้าถึงของประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตว่า 1.ควรจัดให้มีสายด่วนร้องทุกข์ เว็บไซต์หรือหน่วยบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สามารถให้คำปรึกษา ร้องเรียน หรือแจ้งความการกระทำผิดทางออนไลน์ให้บริการ 24 ชั่วโมง 2.จัดทำกิจกรรมหรือโครงการที่เผยแพร่ความรู้ เพื่อสร้างสามัญสำนึกและปลูกฝังจริยธรรมในการใช้งานอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์และสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชน 3.ควรตั้งหน่วยงานคุ้มครองประชาชนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจากภัยไซเบอร์ ให้มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย แจ้งเหตุ เตือนภัยหรือรับเรื่องร้องเรียนเมื่อพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในโลกไซเบอร์
โดยรับสมัคร “อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยจากไซเบอร์” จากผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนและประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตด้วยกันเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น